วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555
คนไทยพร้อมหรือยังกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ประเด็น “ความมั่นคงทางพลังงาน” ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต ส่งผลให้ในแผนยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ได้บรรจุการลงทุนเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเข้าเป็นหนึ่งในแผนดังกล่าว ด้วย
เพราะไฟฟ้านอกจากจะเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต แล้ว ยังจำเป็นต่อการหล่อเลี้ยงภาคอุตสาหกรรม และการพาณิชย์ ยิ่งไปกว่านั้น การมีระบบไฟฟ้าที่มั่นคงเพียงพอในราคาถูก ยังเป็นอีกปัจจัยหลักในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งนำไปสู่การเป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญๆ ของโลกในอนาคต
แต่หาก พิจารณากำลังการผลิตไฟฟ้าในปีนี้ ซึ่งอยู่ที่ 34,265 เมกะวัตต์ กับความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีที่ 24,000 เมกะวัตต์ต่อวัน และมีอัตราการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) สูงถึง 26,121 เมกะวัตต์ ขณะที่คาดว่าความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 1,500 เมกะวัตต์ต่อปี จะเห็นว่าขณะนี้เรามีไฟฟ้าสำรองคงเหลืออยู่ไม่มาก
ทั้ง นี้ ตามแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2010 (2553-2573) ได้ประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้า 18 ปีข้างหน้า หรือปี 2573 ไว้ที่ 52,256 เมกะวัตต์ มากกว่าปัจจุบันกว่าเท่าตัว และเพื่อตอบสนองความต้องการใช้นั้น เราจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดสภาพ และโรงไฟฟ้าใหม่
อย่างไรก็ตาม การสร้างโรงไฟฟ้ายังคงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวมากในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้า รวมทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อม
การสร้างโรงไฟฟ้าของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ใหม่ จึงถูกคัดค้านอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง!!
โอกาส ที่ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)” ได้นำสื่อมวลชนไปดูงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และถ่านหินที่ประเทศญี่ปุ่น “ทีมเศรษฐกิจ” เห็นประเด็นน่าสนใจที่จะนำประสบการณ์ “การอยู่ร่วมกันของพลังงาน สิ่งแวดล้อม และชุมชน” ในญี่ปุ่น เพื่อมาแชร์ความคิดเห็นและมุมมอง ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกของ “สถานการณ์ด้านระบบไฟฟ้าของประเทศไทย” ได้บ้าง
10 ปี “ไฟฟ้า” มีโอกาสวิกฤติ
นาย พงษ์ดิษฐ พจนา ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ข้อมูลถึงสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของไทย ล่าสุดสิ้นปี 2554 ที่ผ่านมาว่า เราใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้ามากที่สุด 67% รองลงมาเป็นถ่านหิน 19% น้ำมันเตา 1% ที่เหลือเป็นพลังงานหมุนเวียน 13%
พงษ์ดิษฐ
“ทั้ง นี้ หากพิจารณาด้านความมั่นคงของพลังงานแล้ว สัดส่วนดังกล่าวแสดงให้เห็นการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงที่ยังไม่ดีพอ เพราะเราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากกว่าครึ่ง ขณะที่ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่เหลืออยู่อาจจะเพียงพออีก 15-20 ปีเท่านั้น หลังจากนั้น เราคงนำเข้าก๊าซฯ จากพม่าและมาเลเซียเพิ่มขึ้น ซึ่งคงต้องคิดให้ดีว่า เราจะมีปัญหาความมั่นคงทางไฟฟ้าหรือไม่ หากจะฝากกำลังการผลิตไฟฟ้า 67% ของประเทศไว้กับเพื่อนบ้าน”
ขณะที่ ด้านต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของไทยวันนี้ ข้อมูลปี 2555 ระบุว่า ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยไฟฟ้าของก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 3.20 บาท ขณะที่ถ่านหินนำเข้าอยู่ที่ 2.36 บาท น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 11.60 บาท พลังงานลม 5-6 บาท พลังงานแสงอาทิตย์ 8-9 บาท พลังงานชีวมวล 2.80-3.50 บาท และพลังงานที่ถูกที่สุดคือนิวเคลียร์ 2.30 บาท
“สิ่งที่ กฟผ.เป็นห่วง คือ เสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในอนาคต เพราะหากเทียบกำลังการผลิตในขณะนี้ กับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี หากเราไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่ ไม่มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเลย อีกประมาณ 10 ปี ประเทศอาจจะมีไฟฟ้าไม่พอใช้ หรือมีใช้แต่คงต้องจ่ายค่าไฟในราคาที่สูงกว่านี้มาก”
นายพงษ์ดิษฐ ระบุด้วยว่า กฟผ.เข้าใจการคัดค้านของประชาชน แต่สถานการณ์ไฟฟ้าก็ใกล้ถึงจุดยากลำบากแล้วเช่นกัน เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะใช้เวลาอีก 5-6 ปี หลังจากผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียสำหรับกิจการที่ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) และได้รับอนุมัติก่อสร้างจากรัฐบาล
“วันนี้อยากเสนอให้การทำความเข้า ใจในเรื่องโรงไฟฟ้า และการสร้างโรงไฟฟ้าเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อหาความชัดเจนใน 10-20 ปีข้างหน้า ว่าประเทศจะลงทุนพลังงานใดเป็นหลัก ก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน ถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ ซึ่งรัฐบาลต้องตัดสินใจ และเมื่อตัดสินใจแล้ว อย่าปล่อยให้ กฟผ.โดดเดี่ยวเหมือนทุกวันนี้ แต่ควรจะมีส่วนร่วมในกระบวนการ หรืออาจจะเป็นรูปแบบสภาพลังงาน เพื่อหาเวทีให้ทุกฝ่ายถกกันจนได้ข้อยุติ”
รับสภาพปิดฉาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์”
สำหรับ แนวทางการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 11 มี.ค. 2554 จนนำไปสู่การรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี
เชื่อได้ว่า โอกาสการเกิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยคงต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด!!!
แม้ ว่า การปรับปรุง PDP 2010 ล่าสุดครั้งที่ 3 ของไทยจะยังคงกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่ง แห่งละ 1,000 เมกะวัตต์ ลดลงจากที่ให้สร้าง 4 แห่ง และเลื่อนแผนการก่อสร้างออกจากในปี 2563 เป็นปี 2569 ก็ตาม
วันที่สื่อมวลชนไทยไปเยี่ยมชม “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ-คาริวะ” ซึ่งถูกบันทึกจากกินเนสส์ เวิลด์ เร็คคอร์ดให้เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เมืองนิอิกาตะ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวเพียง 200 กิโลเมตร ประเทศญี่ปุ่นยังเต็มไปด้วยเสียงคัดค้านของประชาชนที่ไม่ต้องการให้รัฐบาล กลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าคาชิวาซากิ-คาริวะ อยู่ระหว่างการหยุดเดินเครื่อง ตามคำสั่งของรัฐบาลญี่ปุ่นที่สั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด 54 โรง ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่นลดลงถึง 24% ก่อนที่จะให้เปิดทำการใหม่ 2 โรงในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ผ่านแบบทดสอบภาวะวิกฤติและมาตรฐานการรับมือภัยธรรมชาติ ซึ่งจะต้องมีกลไกป้องกันแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ และป้องกันสึนามิที่สูงไม่ต่ำกว่า 15 เมตร
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “กาทูฮิโกะ ฮายาชิ” ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ–คาริวะ ซึ่งเป็นของบริษัทโตเกียว อิเลกทริค พาวเวอร์ หรือเทปโก้ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะฯได้กล่าว “ขอโทษ และแสดงความเสียใจที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้น และระบุว่า การฟื้นฟูโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะฯ คงต้องใช้เวลาอีกค่อนข้างนาน เพื่อให้กลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติ และประชาชนมีความมั่นใจ”
ส่วน อนาคตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น ทางเทปโก้หวังว่า รัฐบาลจะอนุญาตให้เดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้อีกครั้ง และอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เพิ่มเติมได้ ซึ่งขณะนี้มีความเป็นไปได้ และไม่ได้พอๆ กัน
นายพงษ์ดิษฐ ยอมรับว่า “กฟผ.ไม่ได้คิดถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากนักในขณะนี้ เข้าใจว่า สถานการณ์ยังไม่เหมาะสม และเป็นห่วงเรื่อง ความปลอดภัย ซึ่งคงต้องใช้เวลายาวนานในการทำความเข้าใจ สักวันหนึ่งอีกสัก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจมีการทบทวนอีกครั้งว่า จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่”
ต้นแบบ “เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด”
ทั้ง นี้ ก่อนหน้าเหตุการณ์โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะฯ เชื้อเพลิงที่ประเทศญี่ปุ่นใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ในภาวะค่อนข้างสมดุล โดยมีถ่านหินมากที่สุด 27% ก๊าซธรรมชาติ 26% นิวเคลียร์ 24% ที่เหลือเป็นอื่นๆ แต่หลังจากเกิดปัญหา ญี่ปุ่นหันมาให้ความสำคัญกับเชื้อเพลิงถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก
ใน ประเทศไทย การผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ถือเป็นอีกทางเลือกที่สำคัญ ตามแผน PDP 2010 ปรับปรุงใหม่ครั้งที่ 3 ซึ่งกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 9 โรง ภายในปี 2573 กรณีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่สามารถเข้าระบบได้ และเป็นทางเลือกที่ กฟผ.อยากให้สังคมไทยพิจารณา
การไปญี่ปุ่นครั้งนี้จึงได้ศึกษา เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดถึง 2 โรง ซึ่งเป็นของบริษัทอิเลกทริก เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ เจ-เพาเวอร์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เช่นเดียวกับ กฟผ.เริ่มจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเปิดมัตซูอุระ ที่เมืองนางาซากิ ซึ่งเป็นเมืองเกษตรกรรม ขณะที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้ามีอาชีพทำนาข้าวและประมงชายฝั่ง
โรงไฟฟ้ามัต ซูอุระ ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าชนิดบีทูมินัสให้ความร้อนสูง แต่ให้กำมะถันและขี้เถ้าน้อย ขณะที่ใช้เทคโนโลยีหม้อต้มไอน้ำความดันเหนือวิกฤติมาก (Ultra Super Critical) ซึ่งให้กำลังไฟฟ้าสูง แต่ใช้เชื้อเพลิงน้อย ทำให้การปล่อยมลพิษต่อหน่วยลดลง และยังมีระบบดักจับฝุ่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sox) และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไอเสียเป็นไอเสียสะอาด รวมถึงมีระบบบำบัดน้ำเสีย และเสียงรบกวนด้วย
ทั้งนี้ ที่ว่าเป็นโรงไฟฟ้าแบบเปิด เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีระบบจัดเก็บถ่านหินแบบเปิดโล่ง โดยมีลานกองถ่านหิน ซึ่งมีกำแพงกันลมที่ไม่สูงมาก โดยโรงไฟฟ้ามัตซูอุระใช้ระบบการฉีดพ่นน้ำตลอดเวลาให้ถ่านหินเปียกเพื่อ ป้องกันการฟุ้งกระจายของละอองถ่านหินสู่ชุมชนรอบข้าง
ขณะที่โรงไฟฟ้า ถ่านหินแบบปิดอิโซโกะ ตั้งอยู่บนอ่าวโตเกียว ในตัวเมืองโยโกฮามา ซึ่งเป็นย่านอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยใกล้กรุงโตเกียว ถือเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สะอาดที่สุดในโลก โดยมีระบบการลำเลียงและจัดเก็บถ่านหินแบบปิดมิดชิด มีไซโลเป็นจุดเก็บถ่านหินป้องกันการฟุ้งกระจายได้ทั้งหมด ขณะที่มีระบบการดักจับฝุ่น, Sox และ NOx ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศด้วย
ลบภาพเก่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
อย่าง ไรก็ตาม เมื่อพูดถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทย ภาพในใจของคนจำนวนหนึ่งยังคงเห็นปัญหามลพิษ และสุขภาพของคนในชุมชน ที่เกิดจาก “ฝนกรด” ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง เมื่อ 20 ปีก่อน ขณะที่จนถึงปัจจุบันนี้ ยังมีข้อถกเถียงที่จะให้ย้ายชุมชนออกห่างจากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่จะสร้างขึ้น ประมาณ 5 กิโลเมตร
สหรัฐ
นาย สหรัฐ บุญโพธิภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมนิวเคลียร์ กฟผ. กล่าวว่า ในขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงใหม่ กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ทดแทนโรงที่ 4-7 ของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะเดิม และภายในปี 2556 กฟผ.ต้องสร้างเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดในจังหวัดกระบี่โรงที่ 2 บริเวณเขตคลองรั้ว สะพานช้าง ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ มูลค่า 50,000-60,000 ล้านบาท
“ในกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ นั้น ที่ผ่านมามีความผิดพลาดในการดูแลด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง กฟผ.ยอมรับและจัดการแก้ไข ติดตั้งระบบกำจัดฝุ่นละออง และซัลเฟอร์ไดออกไซด์จนครบทุกโรงแล้ว รวมทั้งได้มีโครงการในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน และสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง ขณะที่โรงไฟฟ้าใหม่ที่จะสร้างทดแทนนั้น แม้จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเปิดเหมือนเดิม แต่จะเป็นเทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่ใช้ถ่านหินสะอาด มีระบบกำจัดฝุ่น และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงจะเพิ่มการติดตั้งระบบดักจับไนโตรเจนออกไซด์ เพื่อลดการปล่อยมลพิษมากยิ่งขึ้น”
เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินรุ่นใหม่ ที่จะนำมาใช้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น โดยใช้เชื้อเพลิงเท่าเดิม ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยมลพิษต่อหน่วยให้ลดลง โดยในปัจจุบันเทคโนโลยีในการสร้างโรงไฟฟ้าได้เปลี่ยนไปมาก คำนึงถึงทั้งด้านประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และการรักษาสิ่งแวดล้อม
ส่วน การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งที่ 2 ที่โรงไฟฟ้ากระบี่นั้น นาย สหรัฐ กล่าวว่า จะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด โดยได้นำความรู้ในการก่อสร้างและวิธีปฏิบัติงานจริงของโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบ เปิดมัตซูอุระ และโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบปิดอิโซโกะ มาถ่ายทอดให้ชุมชนกระบี่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจถึงมาตรฐานความปลอดภัยและการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรง ไฟฟ้าถ่านหินได้ตามปกติ และรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนว่าต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างไร ภายใต้มาตรฐานใด โดยได้ทำประชาพิจารณ์กับชุมชนครั้งแรกในวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา
ไซโลเก็บถ่านหิน
ทางออกพลังงาน—ชุมชน
คำ ถามยอดนิยมของสื่อมวลชนไทยที่มีต่อผู้ผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่น ก็คือ “การอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้า สิ่งแวดล้อมและชุมชน” อย่างไม่มีปัญหาทำอย่างไร และมีการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าหรือไม่
บท สรุปของทั้ง 3 โรงไฟฟ้า คือ ก่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะต้องมีการหารืออย่างชัดเจนและจริงจังกับองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน เพื่อให้ได้ “ข้อตกลง 3 ฝ่ายที่ยอมรับได้” ทั้งด้านมาตรฐานความปลอดภัย สุขภาพ การรักษาสิ่งแวดล้อม และผลตอบแทนที่จะได้สู่ท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นข้อตกลงที่มีผลทั้งในทางปฏิบัติ และกฎหมาย
โดยมาตรฐานของชุมชน และองค์กรส่วนท้อง ถิ่นนั้น ส่วนใหญ่จะสูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัยตามกฎหมายของญี่ปุ่น รวมทั้งต้องเปิดเผยผลการตรวจสอบอย่างโปร่งใส และชุมชนสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา
“นาโอโตะ โคบายาชิ” ผู้จัดการโรงไฟฟ้ามัตซูอุระ กล่าวว่า การให้ข้อมูลจริงมากที่สุดกับกลุ่มคัดค้านเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการทำความ เข้าใจ โดยโรงไฟฟ้าทุกแห่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเองที่ต้องชี้แจง และก่อนก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะมีเป็นช่วงการทำข้อตกลงสัญญากับท้องถิ่น และชุมชน และที่สำคัญเมื่อทำแล้วต้องปฏิบัติให้ได้
เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
โดย โรงไฟฟ้าจะเปิดโรงไฟฟ้าปีละครั้งเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญของชุมชนเข้ามาตรวจสอบ ข้อเท็จจริง และในระหว่างนั้น มีการติดตั้งเครื่องวัดสภาพอากาศตลอดเวลาเพื่อให้ชุมชนตรวจสอบ และหากมีข้อสงสัยสามารถเข้าตรวจสอบบริเวณโรงไฟฟ้าได้ตลอดเวลาเช่นกัน
ขณะ ที่ “โนบูโอะ นิชิมูระ” รองผู้จัดการโรงไฟฟ้าอิโซโกะ กล่าวว่า ได้มีข้อตกลงโดยมีสัญญากับเมืองโยโกฮามาว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินอิโซโกะจะต้องปล่อยมลพิษต่ำเท่าโรงที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่เกิน 20 ppm ปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ต่ำกว่า 20 ppm ฝุ่นละอองไม่เกิน 10 ppm และจะต้องออกแบบรับการเสื่อม ซึ่งการปล่อยมลพิษของโรงไฟฟ้าวันแรกจนวันสุดท้ายต้องไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งโรงไฟฟ้าอิโซโกะ ได้ทำมาตรฐานของตัวเองได้ดีกว่าที่สัญญากับเมืองไว้ โดยตั้งค่าซัลเฟอร์ฯ ไว้ไม่เกิน 7 ppm ค่าไนโตรเจนฯไม่เกิน 12 ppm และฝุ่นไม่เกิน 5 ppm
* * * * * * * * * * *
สำหรับบ้านเรา เมื่อชุมชนกับโรงไฟฟ้ายังไม่มีความไว้วางใจกัน การหารือคงเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ยาก!!
หาก องค์กรปกครองระดับอำเภอ หรือจังหวัดจะทำหน้าที่ดูแลประชาชน และชุมชนที่จำเป็นต้องอยู่กับโรงไฟฟ้าให้มากขึ้น โดยเข้ามาทำหน้าที่ศึกษาผลกระทบ มาตรฐานทางสุขภาพ สิ่งแวดล้อมขั้นสูงที่ประชาชนรอบโรงไฟฟ้าควรจะได้รับอย่างไม่ลำเอียง ให้ความรู้และข้อเท็จจริงกับประชาชน รวมกันเป็นตัวกลางในการเจรจาและทำสัญญาหรือลงนามกับโรงไฟฟ้าที่จะเข้ามาอยู่ ร่วมกันในลักษณะใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น
เพื่อให้ ชุมชนมั่นใจว่า จะมีความปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งน่าจะเป็นทางออกทางหนึ่ง แทนจะปล่อยภาระให้กับคนในชุมชนขวน ขวายแก้ไขกันเอง หรือกลุ่มจากนอกพื้นที่เข้ามาจนกลายเป็นการคัดค้านอย่างหัวชนฝา!!!
ขณะ เดียวกัน นอกเหนือจากการเพิ่มประสิทธิภาพ และเสาะหาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแล้ว กฟผ.ยังต้องพร้อมแสดงออกถึงความจริงใจในการดูแลปัญหาที่มากกว่าการรับฟัง ความคิดเห็นของประชาชนเพียงให้ครบตามกระบวนการ แต่จะต้องเปิดใจกว้างเห็นถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนมากกว่าต้น ทุนการผลิตไฟฟ้าราคาถูก หรือผลประโยชน์ที่จะต้องสูญเสีย
เพราะการเป็นรัฐวิสาหกิจ เท่ากับมีหน้าที่หลักเป็นข้าราชการที่ต้องตอบแทนและรับใช้ประชาชน ไม่แพ้หน้าที่อื่นที่ กฟผ.ต้องรับผิดชอบ
“หัวใจ ที่สำคัญที่สุด” คือ เมื่อมีมาตรฐาน หรือสัญญาประชาคมใดๆก็ตาม ในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพของคนในชุมชน หาก กฟผ. แสดงให้เห็นด้วยการปฏิบัติว่าทำได้จริงตามสัญญา หรือมาตรฐานนั้นๆ อย่างไม่ย่อท้อ ซึ่งอาจต้องใช้เวลายาวนานและความตั้งใจจริงอย่างมาก “เพื่อให้คนไทยไว้ใจและเชื่อมั่น”.
ทีมเศรษฐกิจ
โปรย
ไซโลเก็บถ่านหิน
เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
สหรัฐ
พงษ์ดิษฐ
พลังงานไทย พลังงานใคร
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น