บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

ผมถูกหลอกให้ใช้ก๊าซเอ็นจีวี”


“ตอนนั้นรถแท็กซี่ส่วนใหญ่ใช้ก๊าซแอลพีจีหรือก๊าซหุงต้ม อยู่ๆ ทางปตท. ก็มาเสนอให้เปลี่ยนเป็นก๊าซเอ็นจีวี โดยไม่ต้องเสียค่าอุปกรณ์และติดตั้งใดๆ พร้อมกับแถมเงินให้อีกคนละสองพันบาท ราคาก๊าซเอ็นจีวีก็ถูกกว่า ใครบ้างจะไม่เอา” นี่คือความรู้สึกของคนขับรถแท็กซี่รายหนึ่งที่เล่าให้ผมฟังในช่วงเทศกาลตรุษจีน หลังจากราคาก๊าซเพิ่งขึ้นไปได้ไม่กี่วัน

“สถานีเติมก๊าซเอ็นจีวีก็มีน้อย ไปทางอีสานบางครั้งต้องรอสองสามชั่วโมงกว่าจะได้เติม บางทีพอจะถึงคิวเราก๊าซหมดอีก แท็กซี่บางคันรับผู้โดยสารที่เป็นฝรั่ง เมื่อไปแวะเติมก๊าซระหว่างทาง ต้องรอนาน ฝรั่งเขาก็ลากกระเป๋าลงไปหารถคันอื่นเฉยเลย ซึ่งก็น่าเห็นใจฝรั่งเขานะ”

“ทำไมไม่กลับไปใช้แอลพีจีอีกละ” ผมถาม

“จะเอาเงินที่ไหนละ ค่าติดตั้งสองหมื่นกว่าบาท จำนวนสถานีแอลพีจีมากกว่าก็จริง แต่ราคาก็ขึ้นเหมือนกัน ผมถูกเขาหลอกให้เลิกใช้แอลพีจีแล้วมาใช้เอ็นจีวี”

“ก็เอาเงินสองพันไปคืนให้เขาซิ แล้วบอกเขาว่าทำกลับมาให้เหมือนเดิม” ผมแหย่เล่นพร้อมกับทิ้งท้ายว่า “การตลาดของเขาแบบเดียวกับการขายยาเสพติดเลยนะ หลอกให้คนเสพฟรีจนติดแล้วค่อยขายราคาแพงๆ ในภายหลัง”

ในฐานะที่ผมเคยติดตามเรื่องพลังงานมาตั้งแต่โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียเมื่อสิบปีกว่าที่แล้วทำให้ผมพอจำได้ว่า ข้อมูลที่ผมได้รับการบอกเล่านี้เป็นความจริง และเพื่อความเข้าใจที่เป็นระบบผมจึงได้สืบค้นข้อมูลทั้งเก่าและใหม่พร้อมทั้งได้วิเคราะห์เพิ่มเติม (แต่ก็ยังไม่ครบถ้วนเพราะ ปตท.ไม่เปิดเผย) ดังต่อไปนี้

หนึ่ง ก่อนที่เศรษฐกิจฟองสบู่จะแตกในปี 2540 ประเทศไทยโดย ปตท. (ตอนนั้นยังไม่ได้แปรรูป) ได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซกับประเทศพม่าไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อฟองสบู่แตกทำให้ความจำเป็นในการใช้พลังงานลดลงมาก ส่งผลให้ฝ่ายไทยต้องเสียค่า “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (take-or-pay)” เป็นจำนวนมาก เพียง 50 เดือนแรกที่สัญญามีผลบังคับใช้ (1 ก.ค. 2541 ถึง 30 กันยายน 2545) คิดเป็นเงินถึง 35,450 ล้านบาท ถ้าคิดเป็นปริมาณก๊าซที่ได้ใช้จริงก็แค่เพียง 44% ของปริมาณที่ได้ทำสัญญาไว้ ที่เหลืออีก 56% เราต้องจ่ายเงินแต่ยังไม่ได้รับก๊าซ แม้จะได้รับก๊าซฟรีในภายหลังแต่ก็เสียโอกาส

นอกจากนี้โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียที่ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะใช้ก๊าซฯ แต่ก็ได้ทำโครงการตามความต้องการของประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้ในเวลาต่อมาฝ่ายไทยต้องเสียค่า “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” อีกกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ผมเข้าใจว่า เนื่องจากการวางแผนที่ผิดพลาดดังกล่าว ทาง ปตท.จึงพยายามส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซเอ็นจีวี โดยเฉพาะในหมู่รถแท็กซี่ ทั้งๆ ที่สถานีบริการยังมีไม่มากพอ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ปตท.ก็นำเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานซึ่งเก็บมาจากผู้ใช้น้ำมันมาใช้ คิดเป็นเงินก็ประมาณคันละ 4 หมื่นบาท

ในปี 2553 รถที่เติมเอ็นจีวีทั้งหมด 2.68 แสนคัน แต่มีสถานี 444 ปั๊ม ถ้าเปิดวันละ 15 ชั่วโมง และแต่ละคันเติมวันเว้นวัน พบว่าแต่ละชั่วโมงต้องเติมให้ได้ 20 คัน ทันไหม?

อนึ่ง ก๊าซเอ็นจีวีก็คือก๊าซธรรมชาติที่ผ่านโรงแยกก๊าซแล้ว จากนั้นก็ผ่านกระบวนการอัดให้มีปริมาตรน้อยกว่า 1% ของปริมาตรเดิม แต่ ปตท.ไม่ยอมเปิดเผยต้นทุนเนื้อก๊าซ รวมทั้งต้นทุนการผลิตให้ละเอียดเป็นขั้นตอน แต่กลับบอกคร่าวๆ ที่ 8.39 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแย้งว่าน่าจะเป็น 4 บากกว่าๆ

สอง เอกสารของกระทรวงพลังงานเมื่อปี 2545 ได้ให้ข้อมูล (โดยบังเอิญ ดูภาพประกอบ ฉบับเต็มอ่านจาก http://www.eppo.go.th/admin/nlt/nlt-2546-01.pdf ) ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณแล้วพบว่า ราคาก๊าซในอ่าวไทยราคาลูกบาศก์ฟุตละ 10.25 สตางค์ ในขณะที่ก๊าซจากประเทศพม่าอยู่ที่ 16.05 บาท เข้าใจว่ารวมค่าผ่านท่อแล้ว

ข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงานที่มาชี้แจงต่อกรรมาธิการชุดคุณรสนา โตสิตระกูล เรียบร้อยแล้ว แต่คำถามคือ ทำไม? คำตอบน่าจะเป็นเพราะต้องการเลี่ยงค่าภาคหลวงซึ่งไทยเก็บในอัตราที่ต่ำที่สุดในโลกให้ต่ำลงไปอีกนั่นเอง



สาม มติ ครม. (24 ธ.ค. 45) ได้กำหนดว่า ในช่วง 4 ปีแรกให้ขายเอ็นจีวีในราคา 50% ของน้ำมันดีเซล จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับเป็น 55%, 60%, 65% ของราคาน้ำมันเบนซิน 91 ในปี 50, 51 และ 52 เป็นต้นไป แต่ราคาขายปลีกต้องไม่เกิน 10.34 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อแผนการตลาดเป็นที่ดึงดูดใจ จำนวนผู้ใช้ก๊าซเอ็นจีวีก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมาอยู่ที่ 5% ของการใช้ก๊าซทั้งหมด (ดังกราฟที่จำแนกการใช้) แต่แล้วก็มีการยกเลิกมติดังกล่าว

จึงเป็นที่มาของคำว่า “ผมถูกหลอกให้ใช้ก๊าซเอ็นจีวี”



สี่ ข้อมูลจากโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย พบว่าค่าผ่านท่อซึ่งยาวประมาณ 350 กิโลเมตรอยู่ที่อัตราประมาณ 0.44-0.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู หรือประมาณลูกบาศก์ฟุตละ 2 สตางค์ สิ่งที่ยังเป็นคำถามคือ เอ็นจีวีหนึ่งกิโลกรัมมาจากก๊าซดิบกี่ลูกบาศก์ฟุตและค่าการอัดเป็นเท่าใด

สุดท้าย ผมมีข้อมูลว่า การขึ้นลงของราคาก๊าซธรรมชาติเป็นไปตามการขึ้นลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย ไม่ใช่ตามนโยบายของแต่ละประเทศอย่างเดียวตามที่ ปตท.อ้าง และในช่วง 3 ปีมานี้ราคาก๊าซธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง แล้วเอ็นจีวีบ้านเราขึ้นราคาทำไม? บริษัทและรัฐที่มีธรรมาภิบาลต้องตอบให้กระจ่างครับ


ASTV


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ21 กรกฎาคม 2555 เวลา 13:16

    น่าสนใจมากครับ ข้อมูลพวกนี้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากๆ

    ตอบลบ

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค