บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

การผูกขาดธุรกิจพลังงานไทยของปตท. และชะตากรรมคนไทย


ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับการขึ้นราคาก๊าซ NGV ผู้เขียนเห็นด้วยว่า นโยบายการอุดหนุนก๊าซ NGV และ LPG นั้น ไม่ยั่งยืนเพราะราคาขายปลีกที่ถูกกว่าราคาตลาดทำให้มีการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง รวมทั้งมีการลักลอบนำก๊าซ LPG ออกนอกประเทศทำให้เป็นรูรั่วทางการเงินที่อุดเท่าไรก็ไม่พอ

แต่ประเด็นที่เป็นข้อกังขาของสาธารณชนคือ ต้นทุนของก๊าซ NGV และ LPG ที่แท้จริงนั้นคือเท่าใดเพราะดูเหมือนประชาชนจะถูกมัดมือชก เนื่องจากราคาขายปลีกที่กระทรวงพลังงานอ้างถึงนั้น ล้วนเป็นราคาที่ “บวกต้นทุน” ของผู้ประกอบการ มิใช่ราคาตลาด เนื่องจากตลาดพลังงานไทยเป็นตลาดที่ผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำแบบเบ็ดเสร็จโดยปตท. และบริษัทในเครือ ทำให้ไม่มีราคาตลาดที่สามารถอ้างอิงได้ มีแต่ตัวเลขต้นทุนที่ “ที่ปรึกษา” ของ กระทรวงพลังงานคำนวณขึ้นมา ซึ่งในกรณีของราคา NGV ที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ คือ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 18 ของตึก ปตท.ที่ถ.วิภาวดีรังสิต และมีอดีตผู้บริหาร ปตท. รวมถึง คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เป็นกรรมการมูลนิธิสถาบันแห่งนี้อีกด้วย

โดยหลักการแล้ว รัฐควรทำหน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจผูกขาดเพื่อคุ้มครองประชาชน แต่แนวนโยบายด้านพลังงานตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน กลับสะท้อนว่ารัฐอยู่ข้างผู้ประกอบการซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็น (1) การงุบงิบโอนโครงข่ายท่อก๊าซที่ผูกขาดให้แก่ บมจ. ปตท. (รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทุกประการที่ ปตท. เคยได้รับ) ในช่วงที่มีการนำ ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี พ.ศ. 2544 (2) การขึ้นราคาก๊าซ LPG เพียงกิโลกรัมละ 1 บาทสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ จัดเก็บเพิ่มขึ้นถึง 12 บาท และ (3) การเปิดทางให้ ปตท. เข้าเทกโอเวอร์ธุรกิจกลั่นน้ำมันหลายแห่งจนกระทั่ง ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทกลั่นน้ำมัน 5 แห่งใน 6 แห่ง (เหลือเพียง เอสโซ่ แห่งเดียวเท่านั้นที่ยังไม่ถูกเทคโอเวอร์) ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทในเครือผูกขาดธุรกิจการกลั่นน้ำมันโดยมีส่วนแบ่งตลาดการกลั่นน้ำมันสูงถึงร้อยละ 85

อนึ่งการผูกขาดธุรกิจกลั่นน้ำมันส่งผลให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจต่อเนื่องคือ ธุรกิจปั๊มน้ำมันด้วย ทุกวันนี้ ท่านผู้อ่านแทบจะไม่พบเจอปั๊มน้ำมันอิสระเลย ที่เหลืออยู่ก็อยู่ในสภาพที่ร่อแร่เพราะไม่มีโรงกลั่นน้ำมันของตนเอง ต่างกับแต่ก่อนที่เราจะเห็นปั๊มน้ำมันที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เชลล์ Jet คาลเท็กซ์ หรือ เอสโซ่ ก็ดี

การที่รัฐบาลเลือกที่จะเข้าข้างปตท.ตลอดมา เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ (สำหรับระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบไทยๆ) เนื่องจากกำไรอันมหาศาลของ ปตท. (ปี พ.ศ. 2553 กำไร 167,376 ล้านบาท) เป็นขุมทรัพย์ของผู้กุมอำนาจนโยบายทั้งที่เป็นนักการเมืองและข้าราชการประจำ หากเข้าไปดูโครงสร้างกรรมการปตท. ทุกยุคทุกสมัย จะพบว่ามีข้าราชการกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สำนักงานอัยการ เป็นหลัก[1] โดยมีนักธุรกิจที่มีสายโยงใยกับการเมืองเข้ามาร่วมด้วย เช่นในปัจจุบันก็มีนักธุรกิจสายโทรคมนาคมเข้าเป็นกรรมการ ปตท. ไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจที่มีรายได้เกือบ 2 ล้านล้านบาท จะไม่มี “มืออาชีพ” ทางด้านพลังงาน กฎหมายพลังงาน หรือ ธุรกิจพลังงานที่เข้ามาบริหารจัดการเลย



[1]เมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 ปปช. ได้มีข้อเสนอแก่ ครม. มิให้แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุม กำกับ ทั้งด้านนโยบายและด้านการปฏิบัติ เป็นประธานกรรมการ และ เจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็นประธานหรือกรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทในเครือ ด้วยเหตุผลของการทับซ้อนของบทบาทหน้าที่และผลประโยชน์ทางการเงิน


เดือนเด่น นิคมบริรักษ์


TCIJ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค