บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

สรส. ฮือ! ต้านแปรรูป ปตท. - บินไทย

"สรส." บุกคมนาคมยื่นหนังสือค้านแปรรูป "ปตท.-การบินไทย" จัดเวทีสาธารณะ 15 ก.พ.นี้ "ปตท." เตรียมหารือพลังงานดึงบุคคลที่ 3 ศึกษาราคาก๊าซ ครวญราคาต่ำกว่าต้นทุน ปัดผูกขาดธุรกิจกลั่นน้ำมัน "ปชป." ตั้งกระทู้ถล่มรัฐบาลอุ้มคนรวยขึ้นราคาพลังงาน ขณะที่ พ.ร.ก. 4 ฉบับ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
เมื่อวันที่ 26 ม.ค.55 นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 ม.ค.55 สรส. พร้อมตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) จะเดินทางไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการเตรียมแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ต่อนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม ในฐานะที่กระทรวงคมนาคมดำกับดูแลการบินไทย พร้อมกับขอความชัดเจนจาก รมว.คมนาคมในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะข้ออ้างของรัฐบาลจะลดสัดส่วนการถือครองหุ้นในรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ลงร้อยละ 2 ให้กับกองทุนวายุภักษ์ เพื่อไม่ให้นับเป็นหนี้สาธารณะเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการลดหุ้นบริษัปตท. จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
นายสาวิทย์ กล่าวต่อว่า หลังจากรับฟังท่าทีของกระทรวงคมนาคมจะกลับไปประเมินภาพรวมก่อนเคลื่อนไหวต่อไป ส่วนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ติดภารกิจที่ต่างประเทศ ดังนั้นยังไม่ยื่นหนังสือคัดค้านการเตรียมแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต้องรอให้นายกิตติรัตน์กลับมาก่อน นอกจากนี้ สรส.เตรียมจัดเวทีสาธารณะในวันที่ 15 ก.พ.55 เพื่อให้ความรู้กับภาคสังคมเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยจะเชิญนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เข้าร่วมด้วย
นายเติมชัย บุญนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานต์ยนต์ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ กล่าวถึงกรณีที่ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ยังสงสัยถึงต้นทุนที่แท้จริงราคาก๊าซเอ็นจีวี ของบริษัท ปตท. ว่า ที่ผ่านมา ปตท.ได้มีความพยายามชี้แจงต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีหลายเวทีแต่ไม่มีใครเชื่อ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับทุกฝ่ายทางปตท.ได้มีแนวคิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาเป็นผู้ทำการศึกษาต้นทุนราคาก๊าซเอ็นจีวี จะหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงาน(สนพ.) กระทรวงพลังงาน อย่างไรก็ตามในการศึกษาในครั้งนี้ ทาง ปตท.จะไม่ขอออกค่าใช่จ่ายในการศึกษาเพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีส่วนได้เสีย
สำหรับหน่วยงานที่จะทำมาศึกษานั้น จะเป็นหน่วยงานใดก็ได้เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) หรือหน่วยงานใดก็ได้ ปตท.ยินดีจะให้มีการศึกษา ทั้งนี้เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น โดยจะขอหารือกับสนพ. กระทรวงพลังงานก่อน ก่อนหน้านี้ ปตท.ได้ว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมทำการศึกษาต้นทุนและจัดทำราคากลางเพื่อให้เกิดความโปร่งใส สำหรับราคากลางที่สถาบันปิโตรเลียมทำการศึกษาอยู่ที่ 15 บาท ซึ่งราคาขายก๊าซเอ็นจีวีในปัจจุบันอยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ราคาดังกล่าวนั้นต่ำกว่าต้นทุนมาก
"ปตท.ได้มีความพยายามชี้แจงต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีมาโดยตลอด แต่ไม่มีใครเชื่อ หากจะกล่าวว่า ปตท.ไม่ชี้แจงคงไม่ใช่ เพราะ ปตท.ได้ชี้แจงทุกเวทีแล้ว นอกจากนี้การที่ ทีดีอาร์ไอมองว่า ปตท.ผูกขาดธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ทาง ปตท. ยินดีเป็นอย่างยิ่งหากใครจะเข้ามาทำธุรกิจนี้ และขาดทุนแทน ปตท." นายเติมชัย กล่าว
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์รมว.พลังงาน ระบุจะมีการทบทวนนโยบายพลังงานว่า ตนหวังว่าจะทบทวนจริงๆ และขอให้เอาหลักความมั่นคงด้านพลังงานและความเป็นธรรมกับประชาชนผู้ใช้พลังงานเป็นอันดับแรก เพราะกระเป๋าประชาชนต้องสำคัญกว่ากระเป๋า ปตท. อย่างไรก็ตาม การที่บอกว่าไม่สามารถหนุนนโยบายตรึงราคาก๊าซเอ็นจีวีได้ เพราะขาดทุน 3.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรสะสมอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท อยากให้รมว.พลังงานไปดูว่าต้นทุนก๊าซที่แท้จริงคืออะไร หากรัฐบาลยังเดินหน้าขึ้นราคาพลังงานจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามสด เรื่อง ผลกระทบจากนโยบายด้านเศรษฐกิจต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้า ของนายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยนายจุติถามว่า รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาค่าครองชีพอย่างไรบ้าง เพราะมีการปล่อยให้ราคาสินค้าแพงขึ้น อยากทราบว่ารัฐบาลจะอุ้มคนจนหรือคนรวย อย่าง ปตท. เพราะการขึ้นค่าพลังงานสร้างกำไรให้ปตท. ซึ่ง 7 ปีที่ผ่านมา ปตท. มีกำไรเกือบ 7 แสนล้านบาท
นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ ชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี ว่า รัฐบาลไม่ได้ปล่อยปละละเลย และมีแนวทางดูแลค่าครองชีพในปี 55 โดยการกำกับดูแลสินค้าหมวดอาหารและสินค้าปรุงสำเร็จแบบใกล้ชิด และจะเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาท เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และขณะนี้ยังไม่มีการปรับราคาก๊าชหุ้งต้มครัวเรือน จึงยังไม่กระทบต้นทุนการผลิตสินค้า รัฐบาลไม่ได้อุ้มคนรวย แต่ใส่ใจกับการแก้ปัญหาคนจนเป็นที่หนึ่ง
จากนั้น ได้พิจารณากระทู้ถามสดปัญหานโยบายการขายหุ้น ปตท. โดยนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การขายหุ้น ปตท. มีผลกระทบต่อประชาชน ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นและเพิ่มหนี้สาธารณะ ทำไมรัฐบาลจึงมองว่าการตบแต่งบัญชีเพื่อให้ดูว่าหนี้สาธารณะลดลง สำคัญกว่าการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ขณะที่ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง กำลังจะชี้แจง นายเจะอามิง โต๊ะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประท้วงว่า ได้มีการตัดสัญญาณการถ่ายทอดสดไปแล้ว จึงมีการเสนอให้เลื่อนกระทู้ไปถามในสัปดาห์น้า
วันเดียวกัน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้โพสต์ข้อความในเว็บไซต์เฟซบุ้ก "Kamnoon Sidhisamarn" ถึงกรณีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รับผิดชอบการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของกองทุนฟื้นฟู จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท โดยระบุว่า รัฐบาลควรเร่งทำเรื่องถึงสำนักราชเลขาธิการ ขอถอนร่าง พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ออกมาเพื่อทบทวน เนื่องจากมีกระแสคัดค้านสูง แม้แต่ใน ครม.นัดอนุมัติร่าง พ.ร.ก.นี้ เมื่อ 4 ม.ค.ก็ตัดสินใจไปบนพื้นฐานข้อมูลที่อาจจะไม่ถูกต้องในประเด็นสัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณฯ ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคสองในการตรา พ.ร.ก.ว่าเป็น "กรณีฉุกเฉินจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้" จริงหรือไม่
เย็นวันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.ก. 4 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555, พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555, พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555 และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555

สยามรัฐ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค