บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พิชัยรื้อแผนส่งน้ำมัน ลงทุนท่อ1.5หมื่นล้าน :พ่วง2โปรเจ็กต์ใหญ่ - ปตท.รับลูกลงทุนเหนือ-อีสาน


“พิชัย” สั่งรื้อแผนขนส่งน้ำมันทั่วประเทศ มุ่งลงทุนท่อส่งน้ำมันเชื่อมเหนือ-อีสานมูลค่า 15,000 ล้านบาท กรมธุรกิจพลังงานระบุผลตอบแทนทางสังคมสูงเกิน 20% และผลตอบแทนการลงทุน 13-14% เสนอก่อสร้างควบคู่ท่อก๊าซ ปตท. ที่อยู่ระหว่างทำอีไอเอ เชื่อลดค่าใช้จ่ายขนส่งน้ำมันปีละกว่า 1,500 ล้านบาท ด้าน ปตท. รับลูกเร่งศึกษาแผนลงทุน เชื่อช่วยลดส่วนต่างราคาน้ำมัน กทม.และต่างจังหวัด

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า มีนโยบายที่ต้องดำเนินการ 3 เรื่องหลัก คือ 1.โครงการท่อส่งน้ำมันเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) เพราะการขนส่งน้ำมันทางท่อ ถือเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด หากเทียบกับทางรถยนต์หรือทางเรือและทำให้ส่วนต่างราคาน้ำมันระหว่าง กทม. และต่างจังหวัดมีน้อยลง ขณะเดียวกันผลตอบแทนจากการลงทุนของเส้นทางท่อน้ำมันภาคอีสานจะได้ประโยชน์ สูงสุด เพราะจำนวนประชากรมีจำนวนมาก ที่สำคัญยังได้ประโยชน์จากการส่งออกไปยังประเทศลาวอีกทางหนึ่งด้วย 
2.โครงการสำรวจและขุดเจาะพลังงาน บริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลโดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา ภายใต้เอ็มโอยูปี 2544 ที่ยังไม่มีการยกเลิก จึงเป็นช่องทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจบนพื้นที่ดังกล่าวต่อไป หากกระทรวงการต่างประเทศเริ่มผลักดันโครงการดังกล่าว กระทรวงพลังงานพร้อมรับลูก เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และ 3.พลิกฟื้นโครงการแลนด์บริดจ์ตามแนวเส้นทางสตูล-สงขลา ในโครงการดังกล่าวจะมีทั้งโรงกลั่นและโรงงานปิโตรเคมี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจภาคใต้ต่อไป
“รัฐบาลนี้คิดถึงอนาคต ถ้าไม่มีก๊าซธรรมชาติมาใช้ผลิตพลังงาน จะหามาจากไหน หากกระทรวงต่างประเทศเริ่มเจรจาพื้นที่ทับซ้อนได้ ก็พร้อมรับลูกเพื่อส่งเสริมและดำเนินการต่อ เพราะมีสมบัติร่วมกันอยู่แล้ว อะไรที่ทำให้เกิดประประโยชน์แก่ทั้ง 2 ประเทศ ต้องทำ ขณะที่ไทยมีความพร้อมด้านโรงแยกก๊าซธรรมชาติมากกว่ากัมพูชา ซึ่ง ปตท. ลงทุนพัฒนามา 30 ปี มีโรงงานปิโตรเคมีรองรับการผลิตสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มได้จำนวนมาก”
ขณะที่รายงานจากกรมธุรกิจพลังงาน  ระบุว่า สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ของประเทศไทย โดยการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการที่ต้องผลักดันโครงการนี้ เนื่องจากทั่วโลกยอมรับว่าการขนส่งน้ำมันผ่านท่อ เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อเทียบกับทางรถยนต์หรือทางเรือ จากผลการศึกษาดังกล่าวพบว่าปัจจุบันการขนส่งน้ำมันทางเรือ ที่เกิดปัญหาความลึกของร่องน้ำ ทำให้เรือไม่สามารถบรรทุกน้ำมันได้เต็มความสามารถและมีข้อจำกัดของเวลาที่ เรือจะสามารถเข้าเทียบท่าได้เฉพาะช่วงเวลาน้ำขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยสูงและคลังใช้งานท่าเรือไม่เต็มประสิทธิภาพ
ส่วนการขนส่งน้ำมันทางรถบรรทุก มีการกำจัดช่วงเวลาวิ่งของรถบรรทุกน้ำมันและการกำหนดเขตพื้นที่ห้ามรถบรรทุก น้ำมันวิ่งในเขตเมืองหลัก ทำให้การรับ-จ่ายน้ำมันของคลังน้ำมันและการขนส่งน้ำมันให้กับสถานีบริการ น้ำมันและลูกค้าทำได้ในช่วงเวลาจำกัด ขณะที่การขนส่งน้ำมันทางรถไฟมีปัญหาจำนวนหัวรถจักรไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ค้าน้ำมันมีแนวโน้มใช้การขนส่งทางรถไฟไปยังคลังน้ำมันในภูมิภาคลดลง อีกทั้งระบบท่อส่งน้ำมัน 2 เส้นทาง ปัจจุบันยังไม่มีการเชื่อมต่อกัน ทำให้การแลกเปลี่ยนน้ำมันระหว่างโรงกลั่นหรือผู้ค้าน้ำมันยังไม่ได้รับความ สะดวก จึงมีการขนส่งน้ำมันทางท่อน้อยไม่เต็มศักยภาพท่อที่มีอยู่
สำหรับแนวทางการขนส่งน้ำมันระยะยาว ต้องมีการต่อขยายแนวท่อส่งน้ำมันที่มีอยู่แล้ว จากจังหวัดสระบุรีไปภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยผลการศึกษาได้เสนอแนวทางการลงทุนไว้ 2 ทางเลือก กล่าวคือ แนวทางแรก มีการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันจากสระบุรีไปภาคเหนือ ผ่านพิษณุโลกและลำปาง และแนวท่ออีกเส้นที่แยกไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านนครราชสีมาและขอนแก่น รวมระยะทาง 958 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนประมาณ 15,237 ล้านบาท  มีผลตอบแทนทางการเงิน 14.7% และมีผลตอบแทนทางสังคมและเศรษฐกิจ 21.8%
ส่วนแนวทางที่สอง เป็นการต่อขยายจากสระบุรีไปอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี หลังจากนั้นท่อจะแยกออกจากกันไปภาคเหนือผ่านพิษณุโลกและลำปาง  และแนวท่ออีกเส้นจะแยกไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านชัยภูมิไปจนถึงขอนแก่น รวมระยะทาง 887 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนประมาณ 13,751 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางการเงิน 13.7% และมีผลตอบแทนทางสังคมและเศรษฐกิจ 20.6%
ส่วนผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้จากการลงทุนครั้งนี้ หากโครงการสามารถเกิดขึ้นได้ช่วงปี 2556 จะสามารถลดค่าใช้จ่ายการขนส่งน้ำมันได้ปีละ 1,571 ล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำหรับการขนน้ำมันได้ 1,311 ล้านบาทต่อปี ลดการจราจรทางบกได้ 26% และลดการจราจรทางน้ำได้ 6%
อย่างไรก็ตามการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันทั้ง 2 เส้นทาง สามารถดำเนินงานควบคู่กับการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติของบริษัท  ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่มีโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯไปจังหวัดนครสวรรค์และนครราชสีมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยการก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จปี 2558
นายณัฐชาติ จารุจินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรบริษัท  ปตท. จำกัด (มหาชน)  หรือ PTT กล่าวกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ปตท. อยู่ระหว่างการศึกษาแผนลงทุนท่อส่งน้ำมันเส้นเหนือและอีสาน ขณะนี้ผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จ โดยต้องหารือร่วมกับรัฐบาลก่อน เนื่องจากการส่งทุนดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ไม่สูงนักหรืออยู่ที่ประมาณ 11% เท่านั้น
ทั้งนี้ การที่ ปตท. จะลงทุนท่อส่งน้ำมันดังกล่าวหรือไม่นั้น จำเป็นต้องดูถึงวอลุ่มน้ำมันด้วยว่ามากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากแผนลงทุนท่อส่งน้ำมันเส้นเหนือและอีสานสามารถดำเนินการได้จะช่วย ด้านระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศได้ เนื่องจากสามารถลดจำนวนการขนส่งทางรถบรรทุก รวมทั้งยังช่วยลดความแตกต่างของราคาน้ำมันเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัดลงได้
“ตอนนี้ ปตท. กำลังศึกษาแผนลงทุนท่อส่งน้ำมันเส้นเหนือและอีสาน แต่ต้องหารือกับรัฐบาลก่อน เพราะเงินลงทุนที่ใช้ก้อนใหญ่ อีกทั้งผลตอบแทนไม่สูง นอกจากนี้ต้องดูวอลุ่มน้ำมันด้วยว่าจะเป็นเท่าไร อย่างไรก็ตามแผนลงทุนดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งอาจเป็นการลงทุนของภาครัฐก็ได้” นายณัฐชาติ กล่าว


หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง